📒การดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19

 การดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19

    ในขณะทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัวผู้ดูแลจำเป็นต้องดูแลตนเองเป็นอย่างดีด้วยควรจำกัดจำนวนผู้ดูแลโดยมอบหมายหน้าที่ให้ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 ตัวอย่างเช่น ผู้ได้รับวัคซีนครบแล้ว มีอายุต่ำกว่า 60 ปีและไม่เป็นโรคเจ็บป่วยเรื้อรัง

    ผู้ดูแลควรช่วยเหลือผู้ป่วยในการปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับจากแพทย์ ให้ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์

หมั่นสังเกตอาการหากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ให้พบแพทย์ทันที

  • หายใจติดขัด
  • เจ็บหน้าอก
  • มีอาการเพ้อ สับสน
  • สูญเสียทักษะการพูดหรือการเคลื่อนไหว 

    อาการบางอย่างอาจขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ในกรณีของเด็กอ่อน หากเด็กไม่ยอมดูดนมแม่ หรือกรณีเด็กเล็กหากมีไข้สูง มีอาการเพ้อและสับสน ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือใบหน้าและริมฝีปากมีสีม่วงคล้ำ ถือเป็นสัญญาณที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน

    หมั่นสังเกตอาการของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวว่ามีอาการบ่งชี้ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือไม่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หายใจลำบาก ไอแห้ง หรืออาการเหนื่อย ในผู้ป่วยวัยเด็กอาจมีอาการที่แตกต่างออกไป ส่วนในวัยทารกอาจรวมถึงการให้นมได้ยากขึ้น หายใจเร็วและมีอาการซึม หากมีอาการดังกล่าว ขอให้เข้ารับการตรวจเชื้อทันที 

ปฏิบัติตามคำแนะนำ

    การปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญแม้ว่าทุกคนในครอบครัวจะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่มีวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และหากติดเชื้อคุณยังอาจเป็นพาหะที่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้ออีกด้วยควรพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

    การเว้นระยะห่าง: หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อหากไม่จำเป็น หากเป็นไปได้ผู้ติดเชื้อควรพักอยู่ในห้องแยก หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค

    สวมหน้ากากอนามัย: ทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัยที่พอดีกับใบหน้าเมื่ออยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วย (ผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากด้วย)

    หมั่นล้างมือเป็นประจำ: ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังสัมผัสกับผู้ป่วยหรือข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย

    การระบายอากาศ: พื้นที่ส่วนกลางอย่าง ห้องครัว ห้องน้ำ ควรถ่ายเทอากาศได้ดี (แนะนำให้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้)

    การทำความสะอาดและสุขอนามัย: จัดให้มีการแยกจาน ชาม ช้อนส้อม ผ้าปูเตียงและผ้าเช็ดตัวสำหรับผู้ป่วย และทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและน้ำร้อน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวที่ผู้ป่วยมักสัมผัสทุกวัน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ ขอบเตียง มือจับประตูและของเล่น ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องน้ำหลังการใช้งานของผู้ป่วยทุกครั้ง กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำความสะอาดเองได้ แนะนำให้สวมถุงมือระหว่างการทำความสะอาดหากเป็นไปได้ เสื้อผ้าผู้ป่วยที่ใช้แล้วสามารถซักรวมกับของผู้อื่นได้ แต่มีข้อพึงระวัง ดังนี้:

  • สัมผัสเสื้อผ้าของผู้ป่วยโดยใส่ถุงมือ (ถ้ามี)
  • ซักเสื้อผ้าด้วยสบู่หรือน้ำยาซักผ้า โดยใช้น้ำร้อนและอบหรือตากให้แห้งสนิท ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยฆ่าเชื้อไวรัสได้ 
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทันทีหลังการสัมผัส
  • นำเสื้อผ้าของผู้ป่วยใส่ถุงชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งแทนการใส่ลงในตะกร้าผ้าตามปกติ

        เพื่อสุขลักษณะที่ดี ควรจัดให้มีถุงขยะแยกสำหรับผู้ป่วยไว้ใช้ทิ้งกระดาษทิชชู่ หน้ากากอนามัยใช้แล้ว หรือขยะชนิดอื่น ๆ   งดเยี่ยมจนกว่าผู้ป่วยจะหายดี และไม่แสดงอาการใดๆ แล้ว ผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวควรแยกกักตัวตามระยะเวลาที่ทางการแนะนำ  องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ผู้ป่วยแยกกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันแรกที่แสดงอาการ และแยกกักตัวเพิ่มอีก 3 วันหลังจากไม่มีอาการแล้ว

เราควรสื่อสารกับเด็กๆ อย่างไรหากสมาชิกในครอบครัวป่วย?

    เมื่อมีบุคคลในครอบครัวล้มป่วยลงก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนไม่สบายใจ ทั้งนี้ เด็กในแต่ละวัยมีวิธีการรับมือเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป เด็กเล็กอาจยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถเจอหน้าผู้ปกครองหรือพี่น้องได้ ในขณะที่เด็กโต อาจเกิดความกังวลและรู้สึกเป็นทุกข์ เด็กบางคนอาจโทษตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นควรพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและตอบคำถามโดยใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย เด็กๆ รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ใหญ่ได้การสื่อสารจึงจำเป็นต้องทำด้วยความรอบคอบควรเล่าให้เด็กๆ ฟังถึงเรื่องเชื้อไวรัส รวมถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องให้สมาชิกในครอบครัวที่ป่วยแยกตัวจนกว่าอาการจะดีขึ้น และวิธีที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค (โดยเฉพาะถ้ามีสมาชิกในครอบครัวจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง) 

    พยายามเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หาวิธีใช้เวลาร่วมกันโดยที่ยังรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัยของทุกคน เช่น วิดีโอคอลระหว่างทานอาหาร หรืออ่านหนังสือนิทานร่วมกันแม้ว่าจะอยู่ในห้องแยก นอกจากนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมวาดภาพ เขียนจดหมาย หรือส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รู้จักการแสดงความรู้สึกและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้กำลังใจกับสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยได้อีกด้วย

ทำอย่างไรหากคุณล้มป่วย?
    หากคุณรู้สึกป่วยหรือได้รับการยืนยันผลตรวจว่าเป็นโรคโควิด-19 แนะนำให้อยู่บ้าน ถ้าอาการแย่ลงหรือรู้สึกหายใจลำบาก ให้ติดต่อสถานพยาบาลทันทีหากคุณเป็นผู้ดูแลลูกเพียงคนเดียว ให้พิจารณาว่าใครเป็นผู้ที่สามารถดูแลลูกแทนได้ในกรณีที่คุณมีอาการหนัก ผู้ที่จะมาดูแลแทนไม่ควรเป็นผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจป่วยหนักหากได้รับเชื้อโควิด-19

    พักผ่อน ดื่มน้ำเยอะๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์  หากเป็นไปได้ พยายามอยู่ในห้องแยก หรืออยู่ห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดวามเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค ห้องที่พักอาศัยต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก แนะนำให้เปิดหน้าต่างไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    เมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่พอดีกับใบหน้า หลังใช้งานแล้ว ถอดหน้ากากอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวของหน้ากากที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค และทิ้งหน้ากากในถังขยะที่มีฝาปิดทันที

การทำความสะอาดและสุขอนามัย

    เมื่อไอหรือจามให้ใช้ด้านในข้อศอกปิดปาก หรือใช้กระดาษทิชชู่ และทิ้งทันทีหลังการใช้งานล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ 

  • แยกสำรับอาหาร อุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร เครื่องนอนและผ้าเช็ดตัว
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสวัตถุและพื้นผิวสัมผัสต่างๆ ในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันกับผู้อื่น
  • หากเป็นไปได้ ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในห้องน้ำหลังการใช้งานทุกครั้ง

    การกักตัว
    ตรวจสอบข้อมูลกับโรงพยาบาลที่คุณเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับระยะเวลาที่ต้องกักตัวที่บ้าน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ป่วยแยกกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันแรกที่แสดงอาการ และแยกกักตัวเพิ่มอีก 3 วันหลังจากไม่มีอาการแล้ว    การกักตัวอาจทำให้ไม่สบายใจ เป็นเรื่องปกติที่จะมีความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้น เช่น รู้สึกเครียด วิตกกังวล เศร้า กลัว และโกรธ  การหากิจกรรมทำระหว่างวัน ดำเนินชีวิตตามกิจวัตรปกติ และพูดคุยกับคนที่คุณไว้วางใจทั้งทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตระหว่างการกักตัวได้อย่างราบรื่น 

ข้อแนะนำในการให้นม

    หากคุณยังอยู่ระหว่างการให้นม สามารถให้นมต่อไปได้ โดยปฏิบัติตามข้อควรระวังที่เหมาะสม ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อโควิด-19 ผ่านทางนมแม่และการให้นมแต่อย่างใด

ทำอย่างไรหากลูกของคุณป่วย?
    หากลูกของคุณมีอาการบ่งชี้ของโรคโควิด-19 ให้พบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการ แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตาม หากแพทย์แจ้งว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ให้เลือกผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กเพียงคนเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ผู้ดูแลควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และได้รับวัคซีนแล้ว หากไม่สามารถแยกเด็กและผู้ดูแลออกจากสมาชิกครอบครัวที่เหลือ ขอให้แยกสมาชิกครอบครัวที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาจป่วยหนักหากได้รับเชื้อโควิด-19 ออกจากเด็กและผู้ดูแลแทน ห้ามกักตัวเด็กเพียงลำพัง ควรพูดคุยกับลูกหลานของท่านเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และอธิบายถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างจากสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผู้ดูแลและเด็กที่อายุ 6 ขวบขึ้นไป ควรจะใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่พอดีกับใบหน้าเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกัน  หมั่นล้างมือเป็นประจำ ด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ พักผ่อน ดื่มน้ำเยอะๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้เด็กฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้ดี ทำให้ลูก ๆ รู้สึกมั่นใจว่าคุณจะดูแลพวกเขาเป็นอย่างดี และถ้าพักผ่อนเพียงพอ พวกเขาจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ 

รับฟังคำถามหรือความกังวลจากลูกของคุณ

    การระบาดใหญ่ครั้งนี้สร้างความวิตกกังวลและความรู้สึกไม่แน่นอนให้กับทุกคน ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มักมีความรู้สึกหลากหลายทั้งความโกรธ ความกังวล และความเศร้า คุณจำเป็นต้องรับฟังและรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีความรู้สึกเช่นนั้น

เด็กๆ บางคนอาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคโควิด-19 จากเพื่อนหรือผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวล ความอับอายหรือความรู้สึกผิด คุณควรรู้ว่าเด็กๆ ได้รับข้อมูลอะไรมาบ้าง และหากจำเป็นคุณสามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออย่าง องค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ

ตอบสนองความจำเป็นของเด็กๆ อย่างทันท่วงที

    ควรร่วมกันหาวิธีเพื่อให้เด็กๆ สามารถติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอพยายามจัดสถานที่แยกกักตัวสำหรับเด็กและผู้ดูแล ให้เป็นมิตรกับเด็กให้มากที่สุดเมื่อลูกของคุณมีอาการดีขึ้นแล้ว พยายามหาวิธีหรือกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ การเล่นไปพร้อมการเรียนรู้ยังคงเป็นส่วนสำคัญในวัยเด็กเสมอ

หมั่นสังเกตอาการ

    หากเด็กมีอาการทรุดลง ให้ติดต่อแพทย์ทันทีหากทารกไม่ยอมดูดนมแม่ มีอาการเพ้อและสับสน ไม่ยอมรับประทานอาหาร หรือใบหน้าและริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำ แนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน

ข้อแนะนำในการให้นม

    แม้ลูกของคุณจะป่วยจากโรคโควิด -19 หรือจากโรคอื่นๆ ก็ตาม คุณยังสามารถให้นมต่อไปได้ เนื่องจากนมแม่มีประโยชน์และช่วยบำรุงร่างกายทารก การดื่มนมแม่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกได้  และสารภูมิต้านทานที่อยู่ในนมแม่จะถูกส่งผ่านถึงทารกและทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค


ที่มา : https://www.unicef.org/thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

                 BYD Atto 3   เป็นรถ B-SUV/Crossover แบบไฟฟ้าล้วน100%               มิติตัวถัง        ·          ยาว   4,455 มิลลิเมตร ·  ...